Link ที่เกี่ยวข้อง

ธนาคาร

ตั๋วเครื่องบินราคาถูก

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday320
mod_vvisit_counterYesterday616
mod_vvisit_counterThis week3034
mod_vvisit_counterLast week4268
mod_vvisit_counterThis month5348
mod_vvisit_counterLast month37676
mod_vvisit_counterAll days2811252

ข่าวสารการเงิน 2

Go Down

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 11                     การคำนวณมูลค่าเงินกองทุน         (7/3/2555)

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 12                     การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)           (15/3/2555)

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 13                     4 ทางเลือกในการจัดการลูกหนี้ให้ได้เงิน    (31/3/2555)

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 14                     6  วิธัเรียกเก็บเงินกับลูกค้า           (31/3/2555)

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 15                     รูปแบบการชำระเงินทางการค้าระหว่างประเทศ       (27/6/2555)

 

 

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 11

การคำนวณมูลค่าเงินกองทุน

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือ Net Asset Value (NAV) เป็นตัวที่จะสะท้อนถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนลงทุนในแต่ละขณะ การคำนวณ NAV ใน ปัจจุบันใช้หลัก Mark to Market (m to m) ซึ่งจะใช้ราคาตลาดของตราสารในการคำนวณ เช่น กองทุนลงทุนในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะใช้ราคาปิดของหุ้นตัวนั้นมาใช้ในการคำนวณมูลค่าเงินกองทุน ดังนั้น NAV จึงมีโอกาสที่จะขึ้นหรือลงตามแต่สภาวการณ์ นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการนำระบบ unitization มาใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะมีการบันทึกมูลค่าเงินกองทุนเป็นมูลค่าต่อหน่วย วิธีนี้จะมีประโยชน์ในแง่ที่จะทำให้สมาชิกสามารถติดตามผลการหารเงินกองทุน ของบริษัทจัดการได้ได้ง่ายขึ้น

Mark to Market คือ อะไร

M to M เป็นวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ให้เป็นมูลค่าตามตลาดหรือราคาตลาดปัจจุบัน เช่น กองทุนต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ A ที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนจึงซื้อหุ้น A ในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน กองทุนต้องการขายหุ้น A  ก็ต้องขายในราคาซื้อขายในตลาด ณ ช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งราคาอาจจะเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่ากับราคาซื้อ (ราคาทุน) ก็ได้

ราคาตลาดของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะใช้ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ได้แก่
- หุ้น..ใช้ราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์

- พันธบัตร/หุ้นกู้..ใช้อัตราผลตอบแทนจากการซื้อขายครั้งล่าสุดในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย

- หน่วยลงทุน..ใช้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) ที่คำนวณได้ ณ สิ้นวัน

- เงินฝาก/ตั๋วสัญญาใช้เงิน..ใช้มูลค่าเงินต้นบวกด้วยดอกเบี้ยค้างรับ

การกำหนดมูลค่ายุติธรรมของหลักทรัพย์แต่ละประเภทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ที่ สจก.กช. 3/2545 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เหตุที่ต้อง Mark to Market

1. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายทรัพย์สินและผลประโยชน์ของกองทุนให้แก่สมาชิกกองทุนทุกคน

ตัวอย่าง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยของกองทุน อยู่ที่ 10.00 บาท

สถานการณ์ที่ 1 : ราคาพันธบัตรที่กองทุนถืออยู่มีราคาตลาดสูงกว่าราคาทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยของกองทุนสูงขึ้นเป็น 11.00 บาท แต่กองทุนยังคงใช้ราคา 10.00 บาท ในการคำนวณผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก...ผลก็คือ

 

สถานการณ์ที่ 2 : ราคาพันธบัตรที่กองทุนถืออยู่มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินต่อหน่วยของกองทุนลดลงเป็น 9.00 บาท แต่กองทุนยังคงใช้ราคา 10.00 บาท ในการคำนวณผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก...ผลก็คือ..

 

ดังนั้น หากมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนด้วยราคาตลาด (M to M) จะไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสมาชิกทุกประเภท

2.  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนและบริษัทจัดการ

สมาชิกจะทราบได้ทันทีว่ากอง ทุนนั้นมีการบริหารจัดการได้ดีหรือไม่เพียงใด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจของสมาชิกในการเลือกนโยบายการลงทุน หรือเลือกบริษัทจัดการ

นอกจากนี้ การใช้ M to M ยังเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย อังกฤษ ฯลฯ จะใช้วิธีการนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับสมาชิกทุกคนในกองทุน และการใช้ M to M ยังเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 42 เรื่องการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนที่กำหนดให้ กิจการในลักษณะนี้ต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนด้วยมูลค่าตามราคาตลาด ณ ปัจจุบันด้วย

Unitization

เมื่อปี 2544 ได้มีการเปลี่ยนการบันทึกมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากในรูปจำนวนเงิน  เป็นการบันทึกในรูปจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย (unitization)  โดยกองทุนที่ยังไม่เคยมีการกำหนดมูลค่าต่อหน่วย ก็จะเริ่มต้นมูลค่าที่ 10 บาท  ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องกำหนดให้กองทุนมีวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับใช้ในการคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกที่นำส่งเงินเข้ากองทุน และคำนวณจำนวนเงินที่จะจ่ายให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุน และใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุน

การรับรองมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

เมื่อบริษัทจัดการคำนวณ NAV ของกองทุนโดยใช้หลัก  mark to market ตามที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดแล้ว จะต้องให้ผู้รับรองมูลค่า (NAV Verfier) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้ตรวจทานการคำนวณว่าถูกต้องหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่  เนื่องจากข้อมูล NAV มีความสำคัญต่อการคำนวณจำนวนหน่วยสำหรับสมาชิกที่นำส่งเงินเข้ากองทุน   และการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพ  นอกจากนี้ ยังใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณผลตอบแทนรวมของกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการ (composite return) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการประเมินผลงานของบริษัทจัดการได้อย่างถูกต้องด้วย

ที่มา  :   Thaipvd.com                                                วันที่  7/3/2555

_______________________________________________________________________

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 12

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)

1.การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio)

1.1 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน (CA) /หนี้สินหมุนเวียน (CL)
วัด ความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น ถ้าค่าที่คำนวณได้สูงเท่าใด แสดงว่า บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่ประกอบไปด้วย เงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือมากกว่าหนี้ระยะสั้น ทำให้คล่องตัวในการชำระหนี้ระยะสั้นมีค่อนข้างมาก โดยปกติ อัตราส่วน 2 : 1 ถือว่าเหมาะสมแล้ว

1.2 อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio or Acid Test Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) /หนี้สินหมุนเวียน
หรือ( Quick Ratio = CA - Inventory )/CL
เป็น การวัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้หักค่าสินค้าคงเหลือ ที่เป็นสินทรัพย์ระยะสั้นและมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ต่ำสุด ออก เพื่อให้ทราบถึงสภาพคล่องที่แท้จริงของกิจการได้ โดยปกติอัตราส่วน 1 : 1 ถือว่าเหมาะสมแล้ว

1.3 อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ (Account Receivable Turnover)
อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ (Account Receivable Turnover)
A/R Turnover = ขายเชื่อสุทธิ หรือใช้ยอดขายรวม (ครั้ง หรือ รอบ) /ลูกหนี้ถัว เฉลี่ย
ลูกหนี้ถัว เฉลี่ย = (ลูกหนี้ต้นงวด + ลูกหนี้ปลายงวด )/ 2
หากค่าที่คำนวณได้ มีค่าสูง แสดงถึงความสามารถในการบริหารลูกหนี้ให้แปลงสภาพเป็นเงินสดได้เร็ว

1.4 ระยะเวลาถัวเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ (Average Collection Period)
ระยะเวลาถัวเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ (Avg. Collection Period) (วัน) = 365 วัน /อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้
ยิ่งต่ำยิ่งดี
แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ว่าสั้นหรือยาว เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของลูกหนี้
ประสิทธิภาพในการเรียกเก็บหนี้ และนโยบายในการให้สินเชื่อทางธุรกิจ

1.5 อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover)
อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) = ต้นทุนสินค้าขาย (COGS) /สินค้าคงเหลือเฉลี่ย (Avg. Inventory)
สินค้าคงเหลือเฉลี่ย =( สินค้าต้นงวด + สินค้าปลายงวด )/ 2
หากค่าคำนวณได้สูง ย่อมแสดงถึงความสามารถในการบริหารการขายสินค้าได้เร็ว

1.6 ระยะเวลาในการจำหน่าย (ขาย) สินค้า
ระยะเวลาในการจำหน่าย (ขาย) สินค้า(วัน) = 365 (วัน) /อัตราหมุนเวียนของสินค้า (Inventory Turnover)
ยิ่งขายได้เร็ว (ระยะเวลาสั้น) ยิ่งดี

2.ความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio)

1.1 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
1.2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin)
1.3 อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
1.4 อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return On Equity or ROE)

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)(%) = ขายสุทธิ - ต้นทุนขาย หรือ SALES - COGS / ขายสุทธิ SALES
= กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit /ขายสุทธิ SALES
ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตรากำไรจากผลการดำเนินงาน(Operating Profit Margin)(%) = กำไรจากการดำเนินงาน(Operating Profit Margin) /ขายสุทธิ (SALES)

ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /ขายสุทธิ (SALES)
ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทในการทำกำไร หลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมทั้งภาษีเงินได้หมดแล้ว

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE %) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)
ยิ่ง สูงยิ่งดี แสดงให้เห็นว่าเงินลงทุนในส่วนของเจ้าของ จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาจากการดำเนินการของกิจการนั้นในอัตราส่วนเท่าไร หากมีค่าสูง แสดงถึงประสิทธิภาพในการหากำไรสูงด้วย

Dupont Equation
ROE (%) = NP (or EAT) = (EAT/SALES) (SALES/ASSETS) (ASSETS/EQUITY) /Equity
หรือ ROE (%) =รายได้จากการขาย สินทรัพย์ทั้งหมด= กำไรสุทธิ X รายได้จากการขาย X สินทรัพย์ทั้งหมด / ส่วนของผู้ถือหุ้น
= (ความสามารถในการหากำไร) (การใช้เงินทุน) (ความสามารถในการหาทุน)
หรือ สมการนี้เท่ากับ
ROE (%) = (Net Profit Margin) (Total Asset Turnover) (Financial Leverage)

3. อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการทำงาน (Efficiency Ratio)

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /สินทรัพย์รวม (Total Assets)
ยิ่ง สูงยิ่งดี เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการ ดำเนินงาน ว่าให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานได้มากน้อยเพียงใด หากมีค่าสูง แสดงถึงการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ถาวร (ROFA) = กำไรสุทธิ (Net Profit or NP) /รวมสินทรัพย์ถาวร (Fix Assets)
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)(ครั้ง) = ขายสุทธิ (SALES) /สินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset)
ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover)
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover) (ครั้งหรือเท่า) = ขายสุทธิ (SALES) /สินทรัพย์รวม (Total Assets)
จำนวน ครั้งสูง ดี เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ทั้งหมด (TA) เมื่อเทียบกับยอดขาย (SALES) ถ้าอัตราส่วนนี้ต่ำ แสดงว่า บริษัทมีสินทรัพย์มากเกินความต้องการ

4. อัตราส่วนวิเคราะห์นโยบายทางการเงิน (Leverage Ratio or Financial Ratio)

เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของเงินทุนว่ามาจากหนี้สินหรือส่วนของเจ้าของ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity Ratio) (เท่า) = หนี้สินรวม (Total Debt) /ส่วนของเจ้าของ (Equity)
ยิ่งต่ำ ยิ่งดี แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในด้านเจ้าหนี้และเจ้าของกิจการ ถ้าอัตราส่วนสูง
แสดงว่า กิจการมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ

ความ สามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage) (เท่า) = {กำไรสุทธิ (NP) + ภาษีเงินได้ (Tax) - ดอกเบี้ยจ่าย(Interest)} /ดอกเบี้ยจ่าย (Interest)
เป็นการวัดความสามารถของธุรกิจในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ผลคำนวณออกมามีค่าสูง แสดงว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง

อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout) = เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend /share) /กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)
แสดงถึงนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธุรกิจ
อัตราส่วนที่กล่าวมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน เพื่อท่านจะได้พิจารณางบการเงินได้ในระดับหนึ่ง

สัญญาณเตือนภัยจากการวิเคราะห์งบการเงิน
1.ขาดทุนมากๆ และติดต่อกันหลายปี
2.ระยะเวลาการเก็บหนี้นานขึ้น
3.อัตราหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของสูงขึ้นเร็วมาก
4.สินค้าคงคลังสูงมากผิดปกติ
5.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
6.ยอดขายสูงขึ้น แต่กำไรลดลง
7.หนี้สูญเพิ่มขึ้น
8.รายงานผู้สอบบัญชีผิดปกติ เปลี่ยนผู้สอบบัญชีใหม่
9.ขายสินทรัพย์ของบริษัท เพื่อสร้างกำไรให้เข้าเป้าในระยะสั้น

ที่มา  :  blonggang.com                      15/3/2555

____________________________________________________________

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 13

4 ทางเลือกในการจัดการกับลูกหนี้ให้ได้เงิน

การทำธุรกิจในปัจจุบัน มักจะมีการขายเครดิต นั่นก็คือ ขายของออกไปก่อน แล้วเก็บเงินทีหลัง ซึ่งโดยทั่วไป เครดิตมักจะอยู่ที่ 30 วัน แต่สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง มักจะสามารถมีเครดิตมากกว่านั้นได้ ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทของธุรกิจ รวมไปถึงสภาพการณ์ในเวลานั้นๆอีกด้วย

ในส่วนของทางบัญชี เมื่อมีการส่งของไปแล้ว ให้ถือว่ารายได้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะถือว่าผลประโยชน์ และความเสี่ยงที่สินค้าจะเสียหายได้ถูกถ่ายโอนไปที่ลูกค้าแล้ส ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่ได้รับเงิน บริษัทจะต้องรับรู้รายได้ที่เกิดจากสินค้านั้นเสียก่อน ซึ่งในกรณีที่ยังเก็บเงินไม่ได้ เราจะลงบัญชีที่เรียกว่า “ลูกหนี้การค้า”

“ลูกหนี้การค้า” ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Accounts Receivable, Trade Receivable หรือเรียกสั้นๆ ว่า A/R คือ ลูกหนี้ที่เกิดจากการดำเนินงานของลูกค้า ซึ่งอาจจะเป็นการขายสินค้า หรือการให้บริการ ซึ่งถือรายได้เกิดขึ้นแล้ว และบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินก้อนนี้ในอนาคต การขายในลักษณะนี้ คล้ายกับ “การขายเชื่อ” ของร้านโชห่วย ในสมัยก่อนนั่นเอง คือลูกค้ามาซื้อของไป แล้วมาจ่ายเงินวันหลัง

เมื่อบริษัทมีบัญชีลูกหนี้ ก็จำเป็นต้องมีการบริหารลูกหนี้ ซึ่งบริษัทควรจะทำ ageing หรือการวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า เพราะโดยทั่วไป ยิ่งลูกค้าจ่ายเงินช้า ความเป็นไปได้ที่จะสามารถเก็บเงินได้ก็ยิ่งลดลง ซึ่งการวิคราะห์ลูกหนี้ เป็นเครื่องมือในการช่วยทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การวิเคราะห์อายุลูกหนี้

เป็นการแบ่งลูกหนี้ที่ยังไม่ได้รับการชำระตามลูกค้าที่ยังไม่ได้ชำระ และช่วงระยะเวลา

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท XYZ มีลูกค้าอยู่ด้วยกัน 3 แห่ง คือ บริษัท A บริษัท B และ บริษัท C

1. บริษัท A มีลูกหนี้คงค้างทั้งสิ้น 300,000 บาท เป็นสินค้าที่เพิ่งสั่งไปยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน 15,000 บาท ส่วนที่เหลือเลยกำหนดชำระไปแล้ว โดยแบ่งได้เป็น 3 ก้อน

ก้อนแรกเพิ่งเลยกำหนดชำระไปไม่เกิน 30 วัน มีมูลค่า 90,000 บาท

ก้อนที่สองเลยกำหนดไปแล้ว 30 วันแต่ไม่เกิน 60 วันมีมูลค่า 110,000 บาท

ส่วนก้อนสุดท้ายเลยกำหนดชำระไปแล้ว 2 เดือน มีมูลค่า 85,000 บาท

2. บริษัท B มีลูกหนี้ทั้งสิ้น 50,000 บาท ซึ่ง 20,000 บาท ยังไม่ครบกำหนดชำระเงิน

ก้อนแรกเลยกำหนดชำระไปแล้วไม่เกิน 30 วัน มีมูลค่า 27,000 บาท

ก้อนที่สองเลยกำหนดไปแล้ว 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน  มีมูลค่า 3,000 บาท

3. บริษัท C มีลูกหนี้ 7,000 บาท และยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน

เมื่อนำมาทำการวิเคราะห์อายุลูกหนี้  จะออกมาในลักษณะนี้

ลูกค้า

ยอดรวม

ยังไม่ครบกำหนดชำระ

1-30 วัน

31-60 วัน

มากกว่า 61 วัน

บริษัท A

300,000

15,000

90,000

110,000

85,000

บริษัท B

50,000

20,000

27,000

3,000

-

บริษัท C

7,000

7,000

-

-

-

ยอดรวม

357,000

42,000

117,000

113,000

85,000

 

ยิ่งมียอดลูกหนี้คงค้างนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินก็น้อยลงเท่านั้น

สังเกตได้ว่าเราจะเห็นภาพรวมของยอดลูกหนี้ได้ดีมากขึ้น ซึ่งทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าบริษัท A มียอดลูกหนี้สูงสุด และเป็นยอดที่ค้างนาน เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่สามารถเก็บเงินจากบริษัท A ได้ ทำให้บริษัท XYZ ต้องทบทวนการให้เครดิต และการขายสินค้าให้บริษัท A มากขึ้น เพราะโดยทั่วไป ยิ่งลูกหนี้คงค้างนานเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินน้อยลงเท่านั้น หากเราขายให้บริษัท A ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ได้รับเงินจากบริษัท A เลย

ในขณะที่บริษัท  B ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน แต่ว่าไม่มีลูกหนี้ที่คงค้างเกิน 2 เดือน อาจจะเป็นไปได้ว่า เพิ่งขาดสภาพคล่อง แต่ยังมีศักยภาพในการหมุนเงินอยู่ ซึ่งไม่น่าห่วงเท่าไร ส่วนบริษัท C ไม่มีลูกหนี้คงค้างเกินกำหนด จัดเป็นลูกค้าที่ไม่ปัญหาด้านเครดิต

สำหรับลูกหนี้ที่มีแนวโน้มว่าไม่สามารถเก็บเงินได้อย่างบริษัท A อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น บริษัทนั้นล้มละลาย หรือมีการปิดกิจการหนี้ ในทางบัญชี บริษัทต้องมีการล้าง (write-off) บัญชีลูกหนี้ออกไป

แต่สำหรับลูกค้าที่ไม่มีเงินสดจ่ายลูกหนี้ แต่ยังคงดำเนินกิจการ และพยายามหาทางจ่ายเงินอยู่ บริษัทก็สามารถบริหารลูกหนี้ได้ด้วยวิธีต่างๆ  ซึ่งนี่เป็นเพียง 4 วิธีเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงบริษัทอาจมีทางเลือกอื่นมากกว่านี้ก็ได้

1.การต่อรองกับลูกหนี้

ในฐานะเจ้าหนี้แล้ว บริษัทย่อมมีความสามารถในการต่อรองกับลูกค้า ซึ่งสามารถต่อรองให้การเก็บเงินเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ เช่น การชำระหนี้เป็นงวด หรือการจำกัดการขายสินค้า หากไม่ชำระหนี้ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการช่วยลูกหนี้ เรายังสามารถรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ได้ด้วย

2.  มีสิ่งอื่นตอบแทน

โดยทั่วไปแล้ว กรณีนี้ บริษัทมักจะขาดสภาพคล่องแล้ว กล่าวอีกนับหนึ่งคือ ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายผู้ขายสินค้า (Supplier) แล้ว แต่ยังมีสินค้าของตัวเอง ซึ่งสามารถนำไปขายต่อได้ เมื่อทางบริษัทได้สินค้าของลูกหนี้ ก็สามารถนำไปขายทอดตลาดได้ ซึ่งอย่างน้อย ก็ทำให้หนี้นั้น ไม่กลายเป็นหนี้สูญ และหากขายได้กำไร กำไรส่วนนั้นก็จะเป็นของบริษัทเองอีกด้วย นั่นหมายความว่าบริษัทจะได้กำไรจากการขายในเบื้องต้น และการขายสินค้าที่ได้มาทีหลังอีกด้วย แต่ถ้าหากบริษัทของคุณเป็นบริษัทให้บริการ การให้บริการแทนการให้เงินก็นับเป็นอีกวิธีที่สามารถชำระหนี้ได้ เช่น หากบริษัทของคุณ ทำธุรกิจโรงแรม ไม่มีเงินจ่ายบริษัทที่ขายอาหารให้กับโรงแรม คุณอาจจะให้บริษัทขายอาหารมาใช้โรงแรมของคุณ ในการจัดงานปีใหม่ หรือการพักตากอากาศประจำปี ซึ่งนอกจากโรงแรมจะสามารถล้างหนี้ออกไปได้บางส่วน บริษัทขายอาหารก็ยังได้รับบริการ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสดอีกด้วย

3.  แฟคตอริ่ง (Factoring)

คือ การซื้อขายลูกหนี้ โดยปกติ เมื่อบริษัทขายสินค้า หรือให้บริการไปแล้ว บริษัทก็จะมี “ลูกหนี้” หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ สิทธิที่จะเก็บเงิน จากลูกค้า แต่ในบางกรณี บริษัทอาจจะขายสิทธิในการเก็บเงินนั้นให้แก่บริษัทแฟคตอริ่ง เมื่อบริษัทแฟคตอริ่งได้รับสิทธินั้น บริษัทก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ติดตาม และเก็บหนี้นั้น โดยทั่วไป บริษัทมักจะขาดทุน เพราะการขายลูกหนี้ไปให้คนอื่นเก็บเงิน ก็ย่อมได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ในขณะเดียวกัน วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะบริษัทได้รับเงินสดมาโดยทันที ไม่ต้องรอเงินจากลูกค้า หรือนำสินค้าที่ได้รับไปขาย เพราะบริษัทอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดของสินค้าที่ได้รับมาจากลูกค้าก็ได้ และการได้เงินสด นั่นหมายความว่าบริษัทยังสามารถคงสภาพคล่องไว้ได้อีกด้วย

4. การฟ้องร้อง

ในความเป็นจริง นี่เป็นวิธีสุดท้ายที่บริษัททั่วไปจะทำ เพราะการฟ้องร้องย่อมกระทบภาพลักษณ์ของบริษัท และที่สำคัญ คือกระทบความสัมพันธ์ของบริษัทอีกด้วย และหากจำนวนเงินที่ฟ้องร้องไม่มากพอ จำนวนเงินที่ได้รับ ก็อาจจะไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปอีกด้วย

เหมือนกับที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า บริษัทอาจมีวิธีจัดการลูกหนี้ที่ต่างกันไป แต่ 4 วิธีที่กล่าวมา เป็นวิธีที่บริษัทจะสามารถได้รับประโยชน์จากลูกหนี้ได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของจำนวนเงินเสมอไป อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการลูกหนี้ที่ดี คุณจำเป็นจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ และความจำเป็นในระยะเวลานั้นๆ อีกด้วย

ที่มา  :   incquity.com                                   31/3/2555

__________________________________________________________________________

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 14

6 วิธีเรียกเก็บเงินกับลูกค้า

ทุกคนต่างทราบดีว่าเรื่องของเงินในวงการธุรกิจถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวจึงมีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่ายิ่งในส่วนของเรื่องการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า หลายบริษัทดำเนินกิจการมาดีๆแต่พอมาถึงเวลาที่ต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้ากลับขาดวิธีการบริหารจัดการที่ดี ไม่รู้ว่าจะเรียกเก็บเงินจากลูกค้าด้วยวิธีไหนถึงจะเหมาะสมและเป็นการให้เกียรติลูกค้าไปในตัว

ดังนั้นเรื่องของการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและสมควรที่จะต้องเรียนรู้เป็นอย่างที่สุด โดยวิธีการเก็บเงินจากลูกค้ามีความแตกต่างกันออกไปจะใช้วิธีไหนต้องคำนึงถึงบริบทองค์ประกอบรอบข้าง ณ สถานการณ์ความยืดหยุ่นในเวลานั้นด้วย ซึ่งวิธีเรียกเก็บเงินมีประเภทต่างๆดังต่อไปนี้

1.เรียกเก็บเป็นเงินสด

เรียกเก็บด้วยเงินสดจะช่วยรักษาสภาพคล่องทางการเงินได้ดี

เป็นวิธีการที่ง่ายและพื้นฐานอย่างมากในเรื่องของการเงิน โดยวิธีนี้เหมาะที่จะใช้กับลูกค้าที่ไม่ได้เป็นลูกค้าประจำของบริษัทหรือประเภทลูกค้าขาจรนั่นเอง เพราะมีความสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด เนื่องมาจากการที่ไม่ได้รู้จักและทราบพื้นเพหลังของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตวิธีการนี้จึงเป็นวิธีที่จำเป็นจะต้องใช้หากเจอลูกค้าในลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้หากธุรกิจของผู้ประกอบการเป็นขนาดเล็กๆมีกระแสเงินหมุนเวียนในบริษัทเป็นจำนวนไม่มาก การให้สินเชื่อหรือให้ลูกค้าจ่ายเงินชำระค่าสินค้าด้วยวิธีการอย่างอื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะอาจนำมาซึ่งปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในที่สุด

2. เช็คสั่งจ่าย

เป็นวิธีการที่สะดวกมากอีกวิธีหนึ่งของการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าทางธุรกิจ เพราะง่าย ประหยัดเวลา และยังมีความปลอดภัยสูง ทั้งกับตัวผู้ประกอบการและลูกค้าเมื่อเทียบกันกับการถือเงินสดจำนวนมากๆมาชำระที่บริษัท โดยให้ลูกค้าเขียนเช็คสั่งจ่ายมาที่บริษัทและให้ทำการขีดคร่อมด้วยเพื่อความปลอดภัย จากนั้นบริษัทก็นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินตามวันที่ที่ได้ทำการระบุไว้ในเช็ค ซึ่งส่วนมากจะดำเนินการโดยการฝากเข้าบัญชีของทางบริษัทเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามบริษัทที่จะเลือกใช้วิธีการดังกล่าวต้องมีความสนิทสนมรู้จักคุ้นเคยกับลูกค้าเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเช็คคืนจากทางธนาคารนั่นเอง

3. การโอนเงินเข้าบัญชี

การโอนเงินเข้าบัญชีก็เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจนิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก โดยวิธีการนี้เมื่อถึงเวลาเรียกเก็บเงินผู้ประกอบการจะให้ลูกค้าโอนเงินผ่านธนาคารเข้ามายังบัญชีของบริษัทที่ได้เปิดเอาไว้ และกำหนดระยะเวลาที่ให้ชำระล่วงหน้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งวิธีการนี้เงินจะไม่ผ่านมือของบุคคลที่สามเลยนอกจากทางธนาคาร จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ที่ต้องระวังก็คือเรื่องความไว้ใจที่มีต่อกันเพราะอาจจะมีปัญหาถ้าเงินไม่ได้รับการโอนมาตามที่ระบุ นอกจากนี้การโอนเงินในกรณีที่ต่างธนาคารจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่ลูกค้ามักจะไม่อยากจ่ายในส่วนนี้เพราะรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบนั่นเอง

4. หักจากบัญชีโดยอัตโนมัติ

การหักบัญชีโดยอัตโนมัติเป็นวิธีการที่ทั้งตัวของบริษัทผู้ประกอบการและตัวลูกค้าจะต้องไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองก่อนที่จะเริ่มทำธุรกรรมทางการเงินในลักษณะนี้กับทางธนาคารที่สังกัด โดยจะต้องกรอกเอกสารกำหนดรายละเอียดในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของจำนวนเงิน วันที่ที่จะทำการหัก หักจากบัญชีประเภทใดของธนาคารไหนโอนไปยังบัญชีของธนาคารอะไร เป็นต้น วิธีการนี้เหมาะสำหรับบริษัทคู่ค้าทางธุรกิจที่ดำเนินการติดต่อซื้อขายกันเป็นประจำเพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นไม่ต้องเสียเวลาในการไปทำธุรกรรมทางการเงินที่ธนาคารในแต่ละเดือน

5. การวางบิล

การวางบิลต้องมั่นใจว่าเอกสารถูกต้องตรงกันทั้งสองฝ่าย

การวางบิลมีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับคู่ค้าทางธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือและสนิทสนมกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังถือเป็นการให้เกียรติต่อคู่ค้าวิธีหนึ่งอีกด้วย โดยการวางบิล คือ การออกใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้าเพื่อใช้เป็นเอกสารยืนยันในการที่จะมาเรียกเก็บเงินในเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำการพูดคุยกำหนดไว้ในอนาคต โดยในบิลดังกล่าวนอกจากจะมีการกำหนดราคาแล้วควรเขียนรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆให้ครบด้วยเพื่อเป็นการสะดวกต่อการตรวจสอบของทั้ง 2 ฝ่าย ที่สำคัญในบิลดังกล่าวต้องมีลายเซ็นรับรองของลูกค้าด้วยทุกครั้งแล้วให้ลูกค้าเป็นฝ่ายเก็บต้นฉบับไว้ พอถึงเวลาตามที่กำหนดไว้ในบิลถึงมาเก็บเงินหรือเช็คตามที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการให้สินเชื่อวิธีหนึ่งด้วย

6.การแบ่งจ่ายเป็นงวด

การแบ่งจ่ายเป็นงวดๆนี้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาในการทำงานนานพอสมควร อีกทั้งยังต้องเริ่มทำงานไปก่อนในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการทำงานนั้นค่อนข้างสูง โดยอาจจะแบ่งจ่ายออกเป็น 3-4 งวดหรืออาจจะมากกว่านั้น และต้องกำหนดจำนวนตัวเงินหรือจำนวนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลงไปให้ชัดเจนว่าในงวดต่างๆจะจ่ายเป็นจำนวนเท่าไหร่ วิธีการนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีเหมาะสมกับงานในประเภทรับเหมา เป็นต้น

การพูดจาตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าในเรื่องของวิธีการชำระเงินว่าจะมีการดำเนินการด้วยวิธีการแบบไหนถึงจะมีความสะดวกและสามารถบรรลุถึงผลประโยชน์ร่วมกันได้ทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะจะมีส่วนช่วยให้การเรียกเก็บเงินจากลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้นจากผลของการตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้เคล็ดลับที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของวาจาในการไปพูดขอเรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ควรทำในลักษณะของการไปทวงเงินแต่ควรทำในลักษณะที่สุภาพและเป็นการขอเงินค่าตอบแทนในการทำงานมากกว่า พร้อมทั้งใช้ลักษณะการแสดงออกทางบุคลิกภาพอ่อนนอกแต่แข็งในจะช่วยทำให้การเรียกเก็บเงินจากลูกค้าประสบความสำเร็จ และยังช่วยรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าให้ยืนยาวต่อไปได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา  :  incquity.com                                                         31/3/2555

_________________________________________________________________________

ข่าวสารการเงิน เรื่องที่ 15 

รูปแบบการชำระเงินทางการค้าระหว่างประเทศ

เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายได้มีการตกลงเกี่ยวกับข้อสัญญาซื้อขายกันแล้ว กล่าวคือ ได้มีการตกลงเรื่องคุณภาพและปริมาณสินค้า ราคา กำหนดเวลาและสถานที่ส่งมอบสินค้าและเงื่อนไขการชำระเงิน ฯลฯ ผู้ขายก็มีหน้าที่ต้องส่งสินค้าตามที่ตกลง ส่วนผู้ซื้อนั้นก็มีหน้าที่จะต้องชำระเงินค่าสินค้าที่ซื้อตามสัญญา

วิธีการชำระเงินค่าสินค้าที่พบเห็นกันบ่อยในการค้าระหว่างประเทศมี 4 วิธีคือ

  1. การชำระด้วยเงินสด หรือชำระล่วงหน้า (Cash or Advance payment)
  2. ชำระโดยการเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open account)
  3. การชำระเงินโดยการเรียกเก็บผ่านธนาคาร (Bills for Collection)
  4. การชำระเงินโดยเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (Documentary Letter of Credit)

 

1. การชำระเงินด้วยเงินสด หรือ ชำระล่วงหน้า (Cash or Advance payment)

คือ การซื้อขายสินค้า ซึ่งผู้ซื้อต้องจ่ายด้วยเงินสดหรือชำระเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายก่อนที่ผู้ขายจะทำการมอบสินค้า การชำระเงินด้วยวิธีนี้ผู้ซื้อเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะต้องเสี่ยงกับการที่ผู้ขายซึ่งรับเงินไปแล้วอาจจะไม่ส่งสินค้ามาให้ หรืออาจจะส่งสินค้าที่คุณภาพไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ก็ได้

การซื้อขายด้วยวิธีนี้จึงมักจะกระทำกันในกรณีที่ผู้ขายเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่เชื่อถือได้ ตลาดเป็นของผู้ขาย หรือไม่ก็เป็นการซื้อขายกันสำหรับสินค้าที่มีค่างวดไม่สูงนัก เช่น การสั่งซื้อตำราหรือหนังสือจากต่างประเทศ เป็นต้น

 

2. การชำระโดยการเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account)

คือ การซื้อขายสินค้าในลักษณะที่มีการส่งมอบสินค้าก่อนและจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่า เมื่อผู้ขายส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อจะทำการชำระเงินให้ผู้ขาย ตามกำหนดเวลาในอนาคต เช่น หนึ่งเดือนหลังจากรับสินค้า เป็นต้น

การซื้อขายกันในลักษณะนี้ คือการให้เครดิตทางการค้าของผู้ขายแก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อมักเป็นผู้ที่ผู้ขายไว้ใจ โดยทั่วไปแล้วผู้ขายจะต้องตั้งวงเงินไว้สำหรับผู้ซื้อแต่ละราย เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงของผู้ขายไม่ให้สูงจนเกินไป

เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน ผู้ซื้ออาจจะส่ง เช็ค ดราฟต์ โดยตรง หรือออกคำสั่งโอนเงินให้แก่ผู้ขายผ่านทางบัญชีของธนาคารก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวก และข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย

 

3. การชำระเงินโดยการเรียกเก็บผ่านธนาคาร (Bills for collection)

คือการซื้อขายสินค้า ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าตกลงกันว่า เมื่อผู้ขายส่งสินค้าแล้วผู้ขายจะส่งเอกสารเรียกเก็บเงินผ่านธนาคารของผู้ขายไปยังธนาคารผู้ซื้อ หรือธนาคารที่ธนาคารของผู้ขายเป็นผู้เลือกให้ ทำหน้าที่ส่งมอบเอกสารและเรียกเก็บเงินจากผู้ซื้อ

การซื้อขายสินค้าในลักษณะนี้ผู้ขายจะได้รับความคุ้มครองพอสมควร เนื่องจากมีธนาคารเข้าไปดูแล การส่งมอบเอกสารกรรมสิทธิ์ของสินค้า และดูแลการเรียกเก็บเงิน นอกจากนั้นผู้ขายยังมีบุริมสิทธิ์เหนือสินค้าของตน ตราบใดที่ผู้ซื้อยังไม่รับรองตั๋วหรือยังไม่ชำระเงินค่าสินค้า

ธนาคารที่ทำหน้าที่เรียกเก็บจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขายอย่างเคร่งครัด และยึดถือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับตั๋วเรียกเก็บฉบับแก้ไข ค.ศ. 1995 ฉบับที่ 522 ของสภาหอการค้านานาชาติ (Uniform Rules for Collections, 1995 revision, Ioc Publication No.522)  คำสั่งในการเรียกเก็บและส่งมอบเอกสาร  แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

-         การส่งมอบเอกสารแลกเปลี่ยนกับการชำระเงิน  (Documents Against Payment or D/P)

-         การส่งมอบเอกสารแลกเปลี่ยนกับการรับรองตั๋ว (Documents Against Acceptance or D/A)

3.1 เงื่อนไขการเรียกเก็บแบบ D/P (documents against payment)

หมายความว่า  ผู้ซื้อจะรับเอกสารเพื่อไปแลกสินค้าได้ ก็ต่อเมื่อมีการชำระเงินค่าสินค้านั้นแล้ว  ในทางการค้าระหว่างประเทศ  เมื่อผู้ขายส่งสินค้าไปให้ผู้ซื้อแล้ว  ผู้ซื้อยังไม่สามารถรับสินค้าได้ทันที  ผู้ซื้อจะต้องรอเอกสารจากผู้ขาย  เพื่อจะนำไปแลกสินค้าจากบริษัทเรือหรือบริษัทขนส่ง  เอกสารที่สำคัญคือ “ใบตราส่ง”  ที่ออกโดยบริษัทเรือ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ตั๋วเรือ” (Bill of Lading)  ผู้ซื้อจะได้เอกสารนี้จากธนาคารที่ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินต่อเมื่อผู้ซื้อชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ธนาคารดังกล่าว  การตั้งเงื่อนไขแบบ D/P นี้ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสี่ยงต่อการที่มอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้วผู้ซื้อไม่ยอมชำระเงิน  เงื่อนไข D/P นี้ใช้ได้กับตั๋วที่เป็น Sight Bill และ Time Bill

3.2 เงื่อนไขการเรียกเก็บแบบ D/A (documents against acceptance)

หมายความว่า  ผู้ซื้อสามารถรับเอกสารเพื่อนำไปแลกสินค้าก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้รับรองตั๋วแลกเงินจากผู้ขายแล้ว  ตามเงื่อนไข D/A นี้  ผู้ซื้อยังไม่ต้องชำระเงินเพียงแต่เซ็นชื่อรับรองว่าจะจ่ายเงินจำนวนที่ระบุไว้เมื่อครบกำหนด  การที่ผู้ขายจะกำหนดเงื่อนไขการชำระเงินแบบ D/A นี้  ผู้ขายต้องมีความเชื่อถือในฐานะและความซื่อสัตย์ของผู้ซื้อ  เพราะเท่ากับเป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้ซื้อสำหรับกำหนดระยะเวลาของการชำระเงินนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  ตั๋วแลกเงินที่กำหนดเงื่อนไขแบบ D/A นี้  จะต้องเป็นตั๋วที่มีกำหนดระยะเวลาการชำระเงิน (Time Bill) เท่านั้น

 

 

 

 

4. การชำระเงินโดยเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (Documentary Letter of Credit)

คือ  การตกลงซื้อขายสินค้าโดยใช้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเครื่องมือการชำระเงิน  เล็ตเตอร์ออฟเครดิตเป็นตราสารหรือหนังสือรับรองการชำระเงินที่ออกโดยธนาคารของผู้ซื้อออกให้แก่ผู้รับประโยชน์ (ผู้ขาย)  เพื่อรับรองว่าเมื่อผู้รับประโยชน์ปฏิบัติตามเงื่อนไขของเครดิตทุกประการแล้ว  ธนาคารผู้เปิดเครดิตจะชำระเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์โดยไม่มีข้อบิดพริ้ว

การค้ำประกันหรือการรับรองดังกล่าวจะเพิกถอนไม่ได้ในกรณีของ Irrevocable Letter of credit  ถ้าหากไม่ได้รับคำยินยอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เล็ตเตอร์ออฟเครดิต  จึงเป็นเครื่องมือการชำระเงินที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในการค้าขายระหว่างประเทศ  เพราะนอกจากจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขายแล้วยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อด้วย  ในกรณีที่ผู้ซื้อต้องการให้ผู้ขายปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็สามารถระบุลงไปเป็นเงื่อนไขในเล็ตเตอร์ออฟเครดิต  โดยมีธนาคาร (Negotiation Bank)  ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและเงื่อนไขต่างๆ ตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต  เมื่อผู้รับประโยชน์นำตั๋วมายื่นต่อธนาคาร

 

 

สิ่งที่ควรระลึกในที่นี้ก็คือ  ถึงแม้เล็ตเตอร์ออฟเครดิตจะช่วยให้เกิดความมั่นใจกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย  และอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ  แต่เล็ตเตอร์ออฟเครดิตก็ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย  และไม่สามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้  ฉะนั้นการตกลงซื้อขายใดๆ ก็ยังต้องอาศัยความรอบคอบในการพิจารณาถึงความเชื่อถือและความซื่อสัตย์ของคู่สัญญาเป็นสิ่งสำคัญ

ที่มา  :  กรมส่งเสริมการส่งออก                    27/6/2555

________________________________________________________________________

Go Top

 

จดบริษัท, จดห้าง, จดเปลี่ยนแปลง
โทร. 088-227-7514, 
062-827-4446


สอบถามเรื่องบัญชี, ภาษี
โทร. 081-695-8246,
062-827-4446


มีปัญหาเรื่องบัญชีและภาษีอากร
โทร.088-227-7514,
081-695-8246



 


 






อัตราแลกเปลี่ยน

ราคาทองคำ